Article
รางวัลชนะเลิศสำหรับโครงการก่อสร้างที่ยั่งยืนในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์นกในเชียงใหม่ซึ่งเป็นทั้งศูนย์ให้ความรู้และศูนย์ฟื้นฟูพันธุ์นก ได้รับรางวัลเหรียญทองโฮลซิม 2557 (Holcim Awards Gold 2014) สำหรับเอเชียแปซิฟิก และได้รับสิทธิ์เข้าร่วมชิงรางวัลโกลบอลโฮลซิมอวอร์ด (Global Holcim Awards) ในปีหน้า การก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์นกโดย จริยาวดี เลขะวัฒนะ จาก Architectkidd และ สิงห์ อินทรชูโต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ร่วมกับ จักร เชิดสถิรกุล จากเก๊าไม้ล้านนารีสอร์ทในเชียงใหม่ เป็นแนวทางที่ดำเนินการร่วมกันเพื่อจำลองสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของนก พร้อมกับมีโรงแรมที่พักขนาดเล็กและหอชมนกให้บริการ มีการนำเส้นใยปาล์มที่เป็นเศษเหลือทิ้งจากผลิตผลทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเปลือกหุ้มสิ่งก่อสร้าง ที่ใช้เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารสำหรับนกในพื้นที่ทั้งหมด
ในพิธีมอบรางวัลที่กรุงจาการ์ตา กรรมการตัดสินการประกวดและอาจารย์ด้านสถาปัตย์ Donald Bates (ออสเตรเลีย) แสดงความยินดีกับผู้ชนะรางวัลเหรียญทองโฮลซิม สำหรับแนวคิดริเริ่มในการจัดการผลกระทบที่เลวร้ายของการค้านกกับการอยู่รอดของชีวิตสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ “โครงการนี้มีแนวทางสอดคล้องกับหลักการที่สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) สนับสนุน และได้นำคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การค้นคว้าวิจัย และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้อย่างลงตัวและน่าเชื่อถือ” เขากล่าว
นอกจากนั้นประเทศไทยยังได้รับรางวัลชมเชยสำหรับเอเชียแปซิฟิกของโฮลซิมด้วย โดยผู้ได้รับรางวัลนี้คือ สันติ สมบัติวิชาธร จาก D I Designs และทีมงานระบบขนส่งมวลชนทางน้ำในกรุงเทพฯ ที่เสนอโครงการฟื้นฟูคลองสายเก่าในเมือง เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นทางทางน้ำที่ทันสมัย และเพื่อเสริมระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีอยู่
โครงการที่ได้รับรางวัลอื่นๆ เป็นโครงการที่มาจากเนปาล (เหรียญเงิน) ศรีลังกา (เหรียญทองแดง) โดยรางวัลชมเชยและรางวัล “คนรุ่นใหม่” มอบให้แก่ผลงานจากบังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น คิริบาส และสิงคโปร์
คณะกรรมการอิสระที่เป็นผู้พิจารณาผลรางวัลโฮลซิมได้คัดเลือกโครงการที่ชนะรางวัลทั้งหมด 13 โครงการ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดเกือบ 1000 โครงการในเอเชียแปซิฟิก โดยใช้ "ประเด็นเป้าหมาย" เพื่อการก่อสร้างที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย "ประเด็นหลักสามประการ" ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังต้องมีความเลิศทางด้านสถาปัตยกรรมและสามารถเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมได้จริง โครงการที่ชนะรางวัลทั้งหมดได้รับเงินรางวัลรวม 330,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ดูสื่อประชาสัมพันธ์ฉบับสมบูรณ์และผู้ประสานงานสื่อเป็นภาษาอังกฤษ
รางวัลเหรียญทองโฮลซิม 2557 เอเชียแปซิฟิก (Holcim Awards Gold 2014 Asia Pacific)
ปีกที่พร้อมปกป้อง – ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์นก เชียงใหม่ ประเทศไทย
แต่ละปีมีการลักลอบนำนกเข้าและออกจากประเทศไทยหลายพันตัว เนื่องจากความงามของสีสันและเสียงร้องที่ไพเราะ เพื่อขายในตลาดมืดระดับโลกที่กำลังเติบโต นกที่ได้รับการช่วยเหลือมักจะตายในที่กักขัง เพราะถูกจำกัดให้อยู่ในกรงนานถึงห้าปีเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ลักลอบค้าสัตว์ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์นก ในเชียงใหม่ซึ่งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นทั้งศูนย์ให้ความรู้และศูนย์ฟื้นฟูพันธุ์นก พร้อมกับมีโรงแรมที่พักขนาดเล็กและหอชมนกให้บริการ ในพื้นที่ที่จำลองสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของนก มีการนำเส้นใยปาล์มซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเปลือกหุ้มสิ่งก่อสร้าง – ซุ้มที่เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารสำหรับนกในพื้นที่ทั้งหมด
ผู้เสนอโครงการหลัก: จริยาวดี เลขะวัฒนะ, Architectkidd, กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, สิงห์ อินทรชูโต, สถาปนิก, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, และจักร เชิดสถิรกุล, เก๊าไม้ล้านนารีสอร์ท, เชียงใหม่, ประเทศไทย
ผู้เสนอโครงการอื่นๆ: Felix Baroux, นักศึกษา, École Nationale Supérieure d’Architecture et de Paysage de Bordeaux, ประเทศฝรั่งเศส; Pacharapan Ratananakorn, นักออแบบ, ปรัชญา เลิศรักษาดี, นักออกแบบ, ณัษฐพงษ์ ชุ่มเกษร, สถาปนิก, ตามฝัน วัฒยานนท์, นักออกแบบ และศรวุฒิ กิตติบัณฑร, สถาปนิก, ทั้งหมดจาก Architectkidd, กรุงเทพฯ ประเทศไทย
รางวัลชมเชยโฮลซิม 2557 เอเชียแปซิฟิก (Holcim Awards Acknowledgement prize 2014 Asia Pacific)
คลองที่พลิกฟื้นคืนชีพ – ระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
แนวคิดเรื่องการฟื้นฟูคลองช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ขึ้นชื่อเรื่องความแออัดในกรุงเทพฯ โครงการนี้เป็นการวางแผนเพื่อฟื้นฟูคลองสายเก่าในเมือง เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ทันสมัย และเพื่อเสริมระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีอยู่ โดยจะสร้างต้นแบบสถานีขนถ่ายผู้โดยสารจากรถไฟลงเรือและท่าน้ำตามจุดตัดต่างๆ ระหว่างแนวคลองและสถานีรถไฟ การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำไม่เพียงแต่จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางสำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในเมืองเท่านั้น แต่ยังถือเป็นบริการทางสังคมตามจุดที่ตั้งสำคัญๆ โครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ถือเป็นมาตรการควบคุมอุทกภัยและช่วยลดมลพิษด้วย
ผู้เสนอโครงการหลัก: สันติ สมบัติวิชาธร, สถาปนิก, D I Designs, กรุงเทพฯ, ประเทศไทย
ผู้เสนอโครงการอื่นๆ: พงศ์พร สุดบรรทัด, Tanasarn Kowsoui, ชนิกานต์ โอภาสพิมลธรรม และเศรษฐวัฒก์ ศรีวิโรจน์, สถาปนิก, D I Designs, กรุงเทพฯ, ประเทศไทย